โรคพาร์กินสัน

        โรคพาร์กินสันเป็นโรคความเสื่อมทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง ชื่อโรคพาร์กินสัน ได้มาจากชื่อของ นายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน แพทย์ชาวอังกฤษซึ่งเป็นแพทย์คนแรกที่ได้พูดถึงอาการของโรคนี้ในปีคศ.1817

โรคพาร์กินสันเกิดขึ้นในทั้งผู้ชายและผู้หญิงในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน อายุเฉลี่ยที่เริ่มมีอาการจะอยู่ที่ประมาณ 55-60ปี
ปัจจัยเสี่ยง คือ อายุที่มากขึ้น ประวัติครอบครัวของโรคพาร์กินสัน โดยมีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิดที่ส่งผลให้เกิดโรคพาร์กินสันในอายุน้อย การกระทบกระเทือนทางศีรษะอย่างต่อเนื่องยาวนานก็คาดว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งด้วยเช่นกัน

สาเหตุของโรค อาการการเคลื่อนไหวผิดปกติของโรคพาร์กินสันโดยส่วนใหญ่เกิดจากการเสื่อมตายของเซลล์ในระบบประสาทส่วนที่เรียกว่า substantia nigra ส่งผลให้สารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อว่า dopamineลดน้อยลง ส่งผลต่อการทำงานของสมองในส่วนของ basal ganglia ที่เรียกว่า striatumเสียไป ทำให้เกิดการทำงานที่ไม่สมดุล เกิดอาการสั่นและเคลื่อนไหวช้า

อาการของโรคพาร์กินสัน อาการหลักที่สำคัญ ได้แก่

  • การเคลื่อนไหวช้า
  • อาการแข็งเกร็ง
  • อาการสั่น พบได้บ่อยที่สุด มักเป็นที่มือ โดยเฉพาะปลายนิ้ว มักจะเกิดขณะอยู่เฉย อาการน้อยลงเมื่อทำงาน
  • อาการทรงตัวไม่สม่ำเสมอ

โดยผู้ป่วยพาร์กินสันมักจะมีอาการอย่างอื่นนำมาก่อน เช่น การดมกลิ่นลดลง รับรสอาหารได้ลดลง ท้องผูก นอนละเมอ หดหู่ซึมเศร้า โดยสามารถเกิดก่อนอาการเคลื่อนไหวผิดปกติได้นานถึง 6-20ปี แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆ เหล่านี้จะต้องเป็นพาร์กินสันในอนาคตเสมอไป

ผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีลักษณะการเดินที่เฉพาะหลายอย่าง เช่น เดินซอยเท้าถี่ เดินงอหลังโน้มตัวไปข้างหน้า เดินย่ำเท้าอยู่กับที่ก้าวไม่ออก ส่วนอาการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เช่น ท้องผูก เสื่อมสมรรถนะทางเพศ สมองเสื่อม ซึมเศร้า เห็นภาพหลอน นอนตื่นกลางดึกบ่อยๆ เอะอะโวยวายกลางดึกขณะหลับโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว ปวดตามบริเวณต่างๆ ความดันต่ำเวลาเปลี่ยนท่าทาง เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคพาร์กินสันในปัจจุบันอาศัยประวัติ และการตรวจร่างกายเป็นหลัก การยืนยันผลการวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุดต้องอาศัยการผ่าตัดสมอง เพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาซึ่งไม่นิยมทำเนื่องจากอาจมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ปัจจุบันจึงอาศัยการซักประวัติ และการตรวจร่างกายเป็นหลัก การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การscanสมองคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI จะใช้ในการแยกโรคอื่นออกไป ยังมีการตรวจชนิดอื่นเป็น PET scan, SPECT ใช้ในการช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนการวินิจฉัยทางคลินิกได้

การรักษา

  • การรักษาด้วยยา จากสาเหตุที่ว่าโรคพาร์กินสันเกิดจากการเสื่อมของสมองในส่วน substantia nigra ส่งผลให้ dopamine ในสมองลดลง ดังนั้นยาที่ใช้รักษาส่วนใหญ่จะมีประโยชน์ในการเพิ่มสาร dopamineในสมอง โดยยาที่ใช้กันบ่อยๆ เช่น Levodopa โดยทั่วไปโรคพาร์กินสันจะตอบสนองต่อยาค่อนข้างดีโดยเฉพาะในช่วงแรกๆ คือ ระยะเวลา 2-5 ปี หลังการวินิจฉัย ผู้ป่วยหลังทานยาจะกลับมาเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วขึ้น เนื่องจากในระยะแรกผู้ปวยยังคงผลิต dopamine เก็บไว้ในสมองแล้วค่อยๆหลั่งออกมาช้าๆในลักษณะสม่ำเสมอได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการเสื่อมของสมองมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดจะทำให้ร่างกายไม่สามารถสะสมdopamineไว้ได้ ความสามารถในการหลั่งdopamineให้สม่ำเสมอเสียไป ทำให้มีdopamineออกมาเฉพาะในช่วงแรกหลังรับประมานยา และออกมาเป็นช่วงๆ จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ ยาออกฤทธิ์น้อยลงและสั้นลงเรื่อยๆ ทำให้ต้องมีการเพิ่มปริมาณยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดการตอบสนองพอๆเดิม โดยแพทย์จะค่อยปรับเพิ่มยาทีละนิดโดยดูจากอาการ และกิจวัตรประจำวันของคนไข้ การปรับเพิ่มยามากเกินไปอาจจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงอย่างอื่นได้ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เคลื่อนไหวมากผิดปกติได้ ดังนั้นการปรับยาจึงควรปรับตามดุลยพินิจของแพทย์
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด จะใช้ในคนไข้ที่การดำเนินโรคระยะท้าย ตอบสนองต่อยาได้ไม่ดี ในปัจจุบันการผ่าตัดรักษาโรคพาร์กินสันจะเป็นในลักษณะของการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ที่เรียกว่า Deep brain stimulation (DBS) โดยมีการใส่สายelectrodeเข้าไปในตำแหน่งในสมอง แล้วมีสายเชื่อมต่อ มีแบตเตอรี่ฝังอยู่ใต้ผิวหนัง กระแสไฟฟ้าสามารถควบคุมปรับระดับได้ให้เข้ากับอาการ โดยผลของการรักษามักจะดีในแง่อาการสั่น แข็งเกร็ง ในขณะที่อาการด้านการพูด การทรงตัว และอาการที่ไม่ใช่ความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวมักจะไม่ดีขึ้น เช่น อาการหลงลืม หรือซึมเศร้าเป็นต้น
  • ทำกายภาพบำบัด ฝึกเดิน ยืดกล้ามเนื้อ ฝึกพูด ฝึกกลืน
พญ.ชญาพร เด่นเลิศชัยกุล

อายุรกรรมประสาท (NEUROLOGIST)

ข้อมูลติดต่อ

โทร. 044-015-999 หรือ โทร. 1719

ศูนย์สมองและระบบประสาท เปิดให้บริการ
  • วันจันทร์วันศุกร์       เวลา 08.00-19.00 .
  • วันเสาร์วันอาทิตย์   เวลา 08.00-17.00 .
สถานที่ตั้ง ศูนย์สมองและระบบประสาท ชั้น โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา