Bangkok Hospital Ratchasima

ศูนย์มะเร็ง (CANCER CENTER)

ให้บริการตรวจรักษา ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป  ตั้งแต่การให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นมะเร็ง  มีการตรวจคัดกรองมะเร็งที่พบบ่อย ด้วยวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม การตรวจไขกระดูกในผู้ป่วยสงสัยมะเร็งทางโลหิตวิทยา ให้การดูแลรักษาแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ด้วยยาเคมีบำบัดและยาที่ไม่ใช่เคมีบำบัด การรักษาด้วยรังสีรักษา การผ่าตัด และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในแต่ละสาขา ให้การดูแลทั้งก่อนเริ่มการรักษา ขณะรักษาและภายหลังการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยบุคลากรสหสาขาวิชาชีพที่มีประสบการณ์

ตรวจหามะเร็งอย่างละเอียด

ตรวจหามะเร็งด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม อาทิเช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์ การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์  การตรวจด้วยเครื่อง MRI  การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)  การตรวจเลือดที่เหมาะสม การตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา การส่องกล้องตรวจวินิจฉัย (Endoscopy) และการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ที่เหมาะสม

วางแผนการรักษาอย่างดีที่สุด

มีการแนะนำและให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพื่อวางแผนการรักษา โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยแบบองค์รวมเป็นสำคัญ โดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในแต่ละสาขา และพยาบาลที่มีความรู้ความชำนาญ พร้อมทั้งให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ มีพยาบาลประสานงานโรคมะเร็งคอยติดตามดูแล ให้ข้อมูลและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยเฉพาะราย

บริการด้านการรักษาด้วยยา

  • การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) คือ การรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็ง  ทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปได้   ยาเคมีบำบัดมีหลายรูปแบบ ส่วนมากเป็นยาฉีดโดยการหยดร่วมกับสารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ ปัจจุบันมียาเคมีบำบัดบางชนิดในรูปแบบรับประทาน ซึ่งทำให้การบริหารยาสะดวกมากขึ้น ลดระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
  • การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) คือ ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง  โดยทั่วไปมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่าการใช้ยาเคมีบำบัด
  • ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal Therapy) เป็นการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย  ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมน  เนื่องจากมะเร็งบางชนิดอาศัยฮอร์โมนในการเจริญเติบโต  เช่น มะเร็งเต้านม  มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) คือ  การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาที่มีผลต่อการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวบางชนิด ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

การรักษาด้วยยาเหล่านี้สามารถนำมาใช้เพื่อ

  • ใช้เป็นการรักษาเสริมตามหลังการผ่าตัดเพื่อเพิ่มโอกาสให้โรคหายขาดมากขึ้น หรืออาจใช้ก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็ง ทำให้สามารถผ่าตัดได้ง่ายขึ้น
  • ใช้ร่วมกับรังสีรักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่โรคอยู่ในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้
  • ใช้เป็นการรักษาหลักในระยะที่โรคมีการแพร่กระจาย

การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgery)

เป็นวิธีการรักษามะเร็งที่อยู่เฉพาะที่ ยังไม่มีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงอื่นหรือไม่อยู่ระยะแพร่กระจาย ซึ่งจะสามารถควบคุมโรคได้ นอกจากนี้เทคนิคการผ่าตัดยังมีความก้าวหน้ามาก สามารถผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออกโดยไม่ทำให้อวัยวะเสียรูปทรง และหลีกเลี่ยงการสูญเสียอวัยวะนั้นไปได้ เช่น การผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบสงวนเต้า (Breast Conserving Surgery)  การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimal Invasive Surgery : MIS) โดยศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีทีมสหสาขาวิชาชีพร่วมดูแลผู้ป่วย เช่น แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกำหนดอาหาร เภสัชกร ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วขึ้น ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดที่อาจเกิดขึ้นได้ และลดระยะเวลานอนโรงพยาบาล

การรักษามะเร็งโดยแพทย์เฉพาะทางรังสีร่วมรักษา (Interventional Radiologist)

การรักษามะเร็งโดยแพทย์เฉพาะทางรังสีร่วมรักษา (Interventional Radiologist)  เป็นการรักษาโดยใช้อุปกรณ์พิเศษเพื่อทำลายก้อนมะเร็ง เช่น การใช้คลื่นไมโครเวฟ การใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง รวมไปถึงการให้ยาเพื่ออุดหลอดเลือดแดงที่เป็นก้อนมะเร็ง (Transarterial Chemoembolization: TACE) มีผลทำให้ก้อนมะเร็งขาดเลือดไปเลี้ยง จนทำให้มะเร็งตายในที่สุด โดย 2 วิธีนี้มักจะใช้ในการรักษามะเร็งเซลล์ตับ

การรักษาประคับประคอง

เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวด บรรเทาความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำกับครอบครัว เพื่อให้ครอบครัวของผู้ป่วยมีความเข้าใจโรค และให้ข้อมูลในการวางแผนดูแลผู้ป่วยล่วงหน้า เพื่อให้ครอบครัวและผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในช่วงสุดท้ายของชีวิต

บริการหอผู้ป่วยใน โดยทีมพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ดูแล 24 ชั่วโมง

ศูนย์มะเร็งและโลหิตวิทยา ชั้น 2 เปิดให้บริการทุกวัน

วันจันทร์วันศุกร์ เวลา 08.00 – 17.00 .

วันเสาร์ เวลา 08.00 – 13.00 .

วัน อาทิตย์ เวลา 08.00-17.00 .

สถานที่ตั้ง ศูนย์มะเร็งและโลหิตวิทยา ชั้น 2 โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์  044-015-999 หรือ 1719 ต่อ ศูนย์มะเร็งและโลหิตวิทยา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม