มะเร็งเต้านม…“รู้เร็วรักษาหายได้”

มะเร็งเต้านม…“รู้เร็วรักษาหายได้”

คุณรู้หรือไม่ว่า !?! 

มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ในผู้หญิงไทยและมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี  “ไม่มีวัคซีนป้องกันเหมือนมะเร็งปากมดลูก”

มะเร็งเต้านม  3 ใน 4 ของผู้ป่วยไม่มีปัจจัยเสี่ยงกล่าวคือ “ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้ ”

สัญญาณอันตราย

  • พบก้อนหรือเนื้อที่เป็นไตแข็งผิดปกติตรงบริเวณเต้านม
  • มีน้ำเหลืองและเลือดไหลจากหัวนม
  • ผิวหนังบริเวณเต้านมเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นรอยบุ๋มหรือผิวหนังบวมหนาตึง เหมือนผิวของเปลือกส้ม
  • หัวนมถูกดึงรั้งจนผิดปกติ
  • ผิวหนังบริเวณลานหัวนมมีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีผื่นคันที่เป็นๆ หายๆ
  • ขนาดและรูปร่างต่างกันอย่างผิดปกติ

การวินิจฉัยโรค

  • การตรวจ แมมโมแกรม (Mammogram) จะมีประโยชน์มากในการตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็กเพราะสามารถตรวจได้ตั้งแต่ยังคลำก้อนไม่พบ แต่ประโยชน์นี้จะใช้ได้ดีในคนที่เริ่มสูงอายุ (มากกว่า 40 ปี) ซึ่งเนื้อเต้านม จะไม่หนาแน่นมาก การตรวจแมมโมแกรมจะเห็นรายละเอียดได้มาก แต่ในส่วนคนอายุน้อยจะแปลผลแมมโมแกรมยาก และในกรณีที่พบก้อน ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าก้อนนั้นเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ
  • การตรวจ อัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) มีข้อเด่นที่สามารถใช้ในคนอายุน้อยอีกทั้งยังสามารถช่วยวินิจฉัยว่าก้อนต่างๆ ในเต้านมเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ
    ทำให้การวางแผนการรักษาเป็นไปได้ง่ายขึ้น

การรักษา

  1. การผ่าตัด การผ่าตัดเป็นจุดเริ่มต้นของการรักษามะเร็งเต้านม โดยต้องมีการวางแผนอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกว่าจะผ่าตัดวิธีไหนเหมาะสมกว่ากันระหว่างการผ่าตัดแบบตัดออกทั้งหมด และการผ่าตัดแบบสงวนเต้า ทั้งยังต้องเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาทันทีพร้อมกันไปเลยหรือไม่ ทั้งยังต้องพิจารณาเรื่องการผ่าตัดในส่วนของต่อมน้ำเหลืองด้วยว่าต้องผ่าตัดออกมาด้วยหรือไม่หรือจะต้องตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลดูก่อน
  2. การฉายแสง หลังการผ่าตัดสงวนเต้ามีความจำเป็นต้องฉายแสง ในกรณีก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือมีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง
  3. การใช้ยาเคมีบำบัดและยาต้านฮอร์โมน หลังการผ่าตัด หากก้อนมะเร็งมีขนาดโตกว่า 1 ซม. หรือมีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง

สิ่งที่คุณอาจสงสัย ?? 
…..ว่าเป็น มะเร็งเต้านม

ก้อนที่เต้านม ไม่เจ็บสิน่ากลัว

ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อมีอาการเจ็บเต้านม มักจะเริ่มสังเกตและคลำที่เต้านมส่วนหนึ่ง จะพบก้อนร่วมด้วย อีกส่วนหนึ่งคือไม่พบก้อนหรือไม่แน่ใจ ควรเข้าพบแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่เป็นมะเร็งเต้านม ซีสมักจะเจ็บ ส่วนมะเร็งมักจะไม่เจ็บ ในบรรดาก้อนที่เต้านมนั้น มีโรคกลุ่มหลัก ๆ อยู่ 3 กลุ่ม คือ
1) ซีสเต้านม
2) เนื้องอกเต้านม (ไม่ร้าย)
3) มะเร็งเต้านม
ซีสที่เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือนโตก่อนรอบเดือนมาและเล็กลงหลังรอบเดือนมาแล้ว ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีซีสมักจะเจ็บที่ก้อน ซึ่งผิดกับกลุ่มเนื้องอกหรือมะเร็ง ซึ่งมักจะไม่ค่อยเจ็บพบว่าร้อยละ 90 ของคน ที่เป็นมะเร็งเต้านม ระยะเริ่มแรกจะมีแต่ก้อนไม่มีอาการเจ็บผู้หญิงหลายๆ คน มีความเข้าใจผิดคิดว่าก้อนที่ไม่เจ็บคงไม่เป็นไร และทิ้งไว้จนกระทั่งก้อนมะเร็งใหญ่โตขึ้นมากแล้วจึงรู้สึกเจ็บได้

สงสัยว่าเป็นมะเร็งเมื่อไร

สังเกตถ้าก้อนที่เป็นมะเร็งเต้านมมักจะแข็งและขรุขระ แต่อาจเป็นก้อนเรียบๆ ได้ อาการอื่น ๆ อาจพบผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือมีรูปร่างของ
เต้านมผิดไปจากเดิม หรืออาจมีแผลที่หัวนมและรอบหัวนมหรือมีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลออกจากหัวนม บางรายคลำพบก้อนบริเวณรักแร้และนานๆ ครั้ง
จะพบมะเร็งเต้านมที่มีอาการบวมแดงคล้ายการอักเสบที่เต้านม นอกจากอาการผิดปกติที่เต้านมแล้ว การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram)
และ อัลตราซาวด์ (Ultrasound) ยังสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมขนาดเล็ก ตั้งแต่ยังไม่มีอาการได้ โดยอาจพบก้อนหรือจุดหินปูนในเนื้อเต้านมได้

ตรวจเลือดและยีน (gene) บอกได้ไหมว่าเป็นมะเร็งเต้านม

การตรวจเลือดเพื่อหามะเร็งเต้านมนั้น มีความแม่นยำค่อนข้างต่ำ เนื่องจากผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมจะพบผลตรวจเลือดเกี่ยวกับมะเร็ง เช่น CA153, CEA ผิดปกติ
น้อยกว่าร้อยละ 20 ขณะเดียวกันผู้ที่มีผลเลือดปกติ ก็อาจเป็นมะเร็งเต้านมอยู่แล้วส่วนการตรวจยีน เช่น gene BRCA1, BRCA2 ซึ่งจะมีความผิดปกติในมะเร็งเต้านมที่เป็นกันทั้งครอบครัว หากตรวจพบก็ไม่ได้หมายความว่า กำลังเป็นมะเร็งอยู่เพียงแต่ทำให้รู้ว่าโอกาสจะพบมะเร็งเต้านมในคน ๆ นั้นมีมากกว่าคนทั่วไปและยีนดังกล่าวก็พบได้เพียงร้อยละ 5 – 10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด ดังนั้นหากตรวจยีนดังกล่าวแล้วปกติก็ยังมีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมอยู่ไม่น้อย

รู้อย่างนี้แล้วกันไว้ดีกว่า…ด้วยการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ พบแพทย์ตรวจเมื่อมีอาการสงสัย
อย่าปล่อยไว้เพราะไม่เจ็บ และตรวจแมมโมแกรมประจำปีตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป

นพ.ชาญชัย วงษ์ลือชัย
ศัลยศาสตร์
(Surgery)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ข้อมูลติดต่อ

โทร. 044-015-999 หรือ โทร. 1719

แผนกศัลยกรรมเต้านม เปิดให้บริการ

  • วันจันทร์วันอาทิตย์       เวลา 08.00-20.00 .