ไวรัสโรต้า

“ไวรัสโรต้า”

ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบแต่ยังพบได้จนถึง 5 ขวบ

การติดต่อ

  • การติดต่อ :: เกิดจากการกินสิ่งปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อนี้ เช่น เด็กมือเปื้อนแล้วอมหรือดูดนิ้วหรือ เชื้อ/อุจจาระ ติดกับของเล่นหรือเครื่องใช้ จึงเป็นโรคป้องกันค่อนข้างยาก ดังนั้นจึงมักมีการระบาดของไวรัสโรต้าในโรงเรียนเด็กเล็กหรือสถานเลี้ยงเด็ก

โรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้ามีอาการอย่างไร ?

เมื่อได้รับเชื้อไวรัสโรตาเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัว 48 ชั่วโมง เชื้อเมื่อเข้าสู่ทางเดินอาหารที่ลำไส้เล็กจะทำลายผนังลำไส้เล็ก ทำให้การดูดซึมน้ำและเกลือแร่ลดลง และเอนไซม์ (Enzyme) สำหรับย่อยคาร์โบไฮเดรตผิดปกติทำให้มีอาการท้องร่วง, ท้องเสีย, ท้องเดิน ถ่ายเป็นน้ำไม่มีมูกหรือเลือดปน เด็กอาจจะมีไข้ มีน้ำมูกและไอเล็กน้อยนำมาก่อนคล้ายการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ แต่จะมีอาการช่วงสั้นๆ แล้วมีอาการทางเดินอาหารตามมา มักมีอาเจียนมากใน 1-2 วันแรก
และท้องร่วงเป็นน้ำพุ่งหลายครั้ง หากไม่ได้รับเกลือแร่เพียงพอ จะท้องอืดมาก อาจถ่ายอุจจาระมากจนก้นแดง อาการอาเจียนจะเป็นในช่วงสองวันแรกแล้วดีขึ้น แต่อาการท้องร่วงจะอยู่นานประมาณ 5-7 วัน

แพทย์วินิจฉัยโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้าอย่างไร ?

แพทย์วินิจฉัยท้องร่วงจากไวรัสโรตาได้จาก อาการของเด็ก และฤดูกาลที่เป็น

รักษาโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้าอย่างไร ?

เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส การรักษาคือ รักษาประคับประคองตามอาการ

  • ให้สารละลายเกลือแร่กินให้เพียงพอกับน้ำ/เกลือแร่ที่เสียไปกับการอาเจียนและท้องร่วง/ท้องเสีย/ท้องเดิน
  • มีไข้ รักษาอาการไข้โดยเช็ดตัวและให้ยาลดไข้
  • ให้ยาขับลม หากปวดท้องหรือท้องอืด ซึ่งการให้เกลือแร่ที่เพียงพอจะช่วยลดอาการท้องอืด เพราะมีเกลือแร่ โปแตสเซียม (Potassium) เพียงพอที่ช่วยทำให้ลำไส้บีบตัวได้ดีขึ้นป้องกันโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้าโดยการฉีดวัคซีน

วัคซีนไวรัสโรต้าที่ใช้ปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ

  1. Pentavalent human-bovine rotavirus reassorted vaccine (RV5, PRV, Rota Teq) มีการอนุญาตให้ใช้ (License) ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป และใช้กว้างขวางในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน (ในยุโรป) และ 8 เดือน (ในสหรัฐอเมริกา) โดยให้ทางปาก/กิน 3 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือนในแต่ละครั้ง
  2.  Monovalent rotavirus vaccine พัฒนามาจากไวรัสโรตาที่ทำให้เกิดโรคบ่อยในคน (RV1, HRV, Rotarix) มีการอนุญาตให้ใช้ใน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และหลายประเทศในละตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย โดยให้กิน 2 ครั้ง ที่อายุ 2 เดือน และ 4 เดือน

เด็กกลุ่มใดควรได้วัคซีนไวรัสโรต้า

เด็กเล็ก อายุมากกว่า 6 สัปดาห์ และอายุน้อยกว่า 24 สัปดาห์ควรได้วัคซีนนี้

เด็กกลุ่มใดมีข้อห้ามการได้วัคซีนไวรัสโรตา

  1. มีอาการแพ้ต่อส่วนประกอบต่างๆในวัคซีน
  2. มีประวัติแพ้วัคซีนในครั้งก่อน
  3. มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องรุนแรง (Severe combined immune deficiency)
  4. มีประวัติเคยมีลำไส้กลืนกัน (Intussusception)

เมื่อไหร่ควรพาเด็กพบแพทย์ ?

  1. เด็กมีอาการซึมลง
  2. ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลยใน 4-6 ชม.
  3. ตัวเย็นหรือมีไข้สูง
  4. มีอาการหอบเหนื่อย
  5. มีอาการชัก
  6. อาเจียนมาก ไม่สามารถให้กินได
พญ.ศิริกุล นิธิปุณยธำรง
กุมารเวชศาสตร์
(Pediatrics)

ข้อมูลติดต่อ

โทร. 044-015-999 หรือ โทร. 1719

ศูนย์สุขภาพเด็ก เปิดให้บริการ

  • วันจันทร์วันอาทิตย์     เวลา 08.00-20.00 .

สถานที่ตั้ง ศูนย์สุขภาพเด็ก ชั้น 1 โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา