Bangkok Hospital Ratchasima

ไหล่หลุด,เจ็บไหล่,ไหล่หัก,กระแทกไหล่

ข้อหัวไหล่หลุดและข้อหัวไหล่หลวมหลุดซ้ำ

     ข้อหัวไหล่เป็นข้อต่อที่มีองศาการเคลื่อนไหวที่สูงที่สุดในร่างกาย ความมั่นคงของข้อหัวไหล่จะขึ้นอยู่กับทั้งเนื้อเยื่อหุ้มข้อต่อ (labrum) เส้นเอ็น(rotator cuff) และกระดูกหัวไหล่ (humerus & glenoid bone)

     โดยเนื้อเยื่อหุ้มข้อต่อหัวไหล่ (labrum) เป็นเนื้อเยื่อที่ติดอยู่กับเบ้าหัวไหล่ มีลักษณะนูนข้ึนมาคล้ายสันเขื่อน จะมีส่วนสำคัญในการให้ความมั่นคงกับข้อหัวไหล่อย่างมาก และมักจะเป็นส่วนที่ได้รับบาดเจ็บเสมอเมื่อมีการเคลื่อนหลุดของหัวไหล่ในคนอายุน้อย ซึ่งสามารถตรวจพบได้จากการตรวจสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) ที่หัวไหล่ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้เนื้อเยื่อข้อต่อหุ้มไหล่ที่บาดเจ็บนั้นไม่สมาน จะทำให้เกิดภาวะข้อไหล่หลวม นำไปสู่การหลุดซ้ำของหัวไหล่ได้

 การบาดเจ็บที่ทำให้หัวไหล่หลุดมักจะเกิดจากการกระแทกโดยตรงที่หัวไหล่ในท่าโหนรถเมล์ (ABER  position) มักจะเกิดขึ้นในกีฬาที่จะต้องมีการขว้างหรือปาเป็นหลัก เช่น บาสเกตบอล รักบี้ เบสบอล อเมริกันฟุตบอล รวมไปถึงกีฬาที่ไม่ได้มีการปะทะโดยตรงอย่าง เทนนิส แบตมินตัน และ วอลเลย์บอลด้วยเช่นกัน

     เมื่อข้อหัวไหล่หลุด ผู้บาดเจ็บมักจะรู้สึกทันทีว่ามีข้อต่อเคลื่อนหลุด มีอาการปวดอย่างรุนแรงที่ไหล่ข้างที่เป็น สังเกตเห็นข้อหัวไหล่ผิดรูป  และไม่สามารถขยับไหล่ข้างนั้นได้ การรักษาคือการเอาข้อหัวไหล่กลับเข้าที่ให้เร็วที่สุดโดยแพทย์หรือผู้ที่ชำนาญและผ่านการฝึกฝนมา

     หากไม่สามารถทำได้ในที่เกิดเหตุ ให้ปฐมพยาบาล โดยหาผ้าคล้องแขนพักไหล่ และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อให้แพทย์ทำการจัดหัวไหล่เข้าที่ให้เร็วที่สุด

     นอกจากนี้การบาดเจ็บข้อไหล่หลุดอาจจะพบร่วมกับการหักของกระดูกหัวไหล่ (humeral head) หรือกระดูกเบ้าไหล่ (glenoid) ได้ เช่นกัน

     หลังข้อหัวไหล่เข้าที่ จะต้องพักหัวใหล่ในที่คล้องแขนประมาณ2-3สัปดาห์ โดยหลีกเลี่ยงการขยับหัวไหล่โดยเฉพาะในท่าโหนรถเมล์ จนกว่าเนื้อเยื่อข้อต่อหุ้มไหล่จะสมาน  รวมไปถึงการประคบเย็นและรักษาความเจ็บปวดด้วยยาแก้ปวดลดการอักเสบ หลังจากนั้นก็จะค่อยเริ่มทำการกายภาพบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อหัวไหล่ให้แข็งแรง และพร้อมเต็มที่ ก่อนที่จะกลับไปเล่นกีฬาอีกครั้ง

     แต่หากข้อหัวไหล่หลังการบาดเจ็บยังมีการหลวมหรือหลุดซ้ำมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป ทั้งๆที่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้ว อาจจะแนะนำรักษาด้วยการผ่าตัดเย็บซ่อมเนื้อเยื่อข้อต่อหุ้มหัวไหล่ (labrum) เพื่อลดโอกาสการเกิดการหลุดซ้ำของข้อหัวไหล่ต่อไป

โดยการรักษาภาวะไหล่หลุดซ้ำโดยการผ่าตัดส่องกล้องเย็บซ่อมเนื้อเยื่อข้อต่อหุ้มหัวไหล่ฉีกขาด  (Arthroscopic labral repair) ถือเป็นการรักษาแบบมาตรฐานในปัจจุบัน

     จะเห็นได้ว่าข้อหัวไหล่หลุดและข้อหัวไหล่หลวมหลุดซ้ำ เป็นการบาดเจ็บทางการกีฬาที่พบได้บ่อย

     หากผู้ที่ได้รับบาดเจ็บข้อไหล่หลุดไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจจะเกิดข้อหัวไหล่หลวมและเกิดการหลุดซ้ำๆได้ภายหลัง ซึ่งจะส่งผลต่อการเล่นกีฬาและการใช้ชีวิตประจำวันได้

ข้อมูลติดต่อ

โทร. 044-015-999 หรือ โทร. 1719

แผนกเวชศาสตร์การกีฬา เปิดให้บริการ
  • วันจันทร์วันอาทิตย์    เวลา 08.00-20.00 .
สถานที่ตั้ง ศูนย์โรคกระดูกและข้อ ชั้น 2 โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา