Bangkok Hospital Ratchasima

 

        ในภาวะปกติคนเราจะสามารถมองเห็นได้ จากการที่แสงเดินทางเข้าสู่ตาเรา ผ่านกระจกตา เลนส์แก้วตา และจุดรับภาพที่จอประสาทตา จากนั้นจึงส่งกระแสประสาทไปตามเส้นประสาทตาเพื่อแปลผลการมองเห็นที่สมอง ต้อกระจก (Cataract) เป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงของเลนส์แก้วตาที่ในภาวะปกติควรจะมีลักษณะใส แต่กลับเกิดการขุ่นตัวขึ้น เลนส์แข็งตัวมากขึ้น หรือเกิดเป็นพังผืด ทำให้การผ่านของแสงน้อยลง เกิดการกระจายของแสง แสงไม่โฟกัสไปยังจุดรับภาพชัดที่จอประสาทตาได้ตามปกติ ทำให้ผู้ที่เป็นต้อกระจกเกิดอาการตาพร่ามัว มีลักษณะคล้ายฝ้าหรือม่านมาบัง มองเห็นสีผิดเพี้ยนไปจากเดิม เห็นภาพซ้อน มองเห็นแสงไฟแตกกระจายโดยเฉพาะขณะขับรถในเวลากลางคืน หรือในต้อกระจกบางชนิดเมื่อออกกลางแจ้งจะยิ่งพร่ามัวมากขึ้น (Posterior subcapsular cataract)

สาเหตุของต้อกระจก

        ต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของโปรตีนซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลนส์ตา ซึ่งเป็นความเสื่อมตามวัย พบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป โดยความรุนแรงของต้อกระจกที่เป็นสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเมื่อคนเราอายุมากขึ้นก็จะมีต้อกระจกเกิดขึ้นทุกคน แต่ความรุนแรงอาจมีมากน้อยแตกต่างกัน นอกจากนี้ต้อกระจกก็ยังอาจเกิดขึ้นในคนอายุน้อยได้ด้วยเช่นกัน เช่น ต้อกระจกในเด็กแรกเกิดจากมารดาที่ติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ผู้ที่ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ผู้ที่เคยมีอุบัติเหตุที่ดวงตา ผู้ที่มีโรคตาอื่นที่ทำให้เกิดต้อกระจกตามมาเช่น ม่านตาอักเสบ การติดเชื้อที่ตา เคยได้รับการผ่าตัดที่ตามาก่อน หรือผู้ที่ได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานาน ๆ หรือได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะทำให้เกิดต้อกระจกตามมาได้

ภาวะแทรกซ้อนจากต้อกระจก

1. เมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้นมักจะทำให้ตัวเลนส์แก้วตาบวมมากขึ้น จนทำให้มุมตาแคบลง ส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้น จนเป็นต้อหินเฉียบพลัน (Phacomorphic glaucoma) ทำให้มีอาการปวดตามาก ตาพร่ามัวยิ่งขึ้น ในบางรายมีอาการปวดศีรษะและอาเจียน

2. เมื่อต้อกระจกสุกจัดจะทำให้มีส่วนของโปรตีนหลุดออกมาจากเลนส์แก้วตา ไปอุดทางระบายของน้ำในช่องหน้าม่านตา ทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นและเกิดการอักเสบรุนแรงของลูกตาตามมา (Phacolytic glaucoma) ในบางรายเป็นมากจนอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

3 .ภาวะแทรกซ้อนทางกายอื่น ๆ จากต้อกระจกที่ทำให้มองไม่ชัด มีคุณภาพชีวิตลดลง และยิ่งในผู้สูงอายุก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการหกล้ม กระดูกหัก หรือมีศีรษะกระแทก และมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมามากมาย

การรักษาต้อกระจก

        ในระยะแรกของการเริ่มเป็นต้อกระจก อาจใช้การแก้ไขด้วยแว่นตา เพื่อช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น และมาเข้ารับการตรวจติดตามอาการกับจักษุแพทย์เป็นระยะ ๆ หากพบว่ามีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดลอกต้อกระจก เช่น การมองเห็นแย่จนมีผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้อกระจกที่มีภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว หรือในรายที่ต้องทำการตรวจรักษาโรคทางจอประสาทตา จึงควรได้รับการรักษาต้อกระจกด้วยการผ่าตัดลอกต้อกระจก ใส่เลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งมีวิธีดังต่อไปนี้

       1.  การผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อกระจกความถี่สูง พร้อมใส่เลนส์แก้วตาเทียม (Phacoemulsification with Intraocular Lens Implantation) เป็นการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านแผลที่กระจกตาขนาดเล็ก 2-3 มิลลิเมตร แล้วจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมที่สามารถพับตัวผ่านแผลขนาดเล็กเข้าไปกางภายในถุงหุ้มเลนส์ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีลอกต้อกระจกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ฟื้นตัวเร็ว มีแผลเล็กปิดได้เอง มักไม่ต้องมีการเย็บแผล

2. การผ่าตัดต้อกระจกแบบแผลใหญ่ พร้อมใส่เลนส์แก้วตาเทียม (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens Implantation) เป็นวิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบดั่งเดิม ใช้ในกรณีต้อกระจกสุกและแข็งมากเกินที่จะสลายได้ โดยต้องทำแผลที่ขอบตาดำขนาดใหญ่ 8-10 มิลลิเมตร แล้วนำเลนส์ทั้งก้อนออกก่อนจะใส่เลนส์แก้วตาเทียมและเย็บแผลจำนวนประมาณ 5-8 เข็ม

เลนส์แก้วตาเทียม (Intraocular Lens)

        เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีความสามารถในการโฟกัสแสง ทดแทนเลนส์เดิมที่เป็นต้อกระจก ในปัจจุบันนิยมผลิตขึ้นจาก Polymethylmethacrylate (PMMA), Silicone, Hydrophobic or hydrophilic acrylate และกลุ่ม Collamer ซึ่งสามารถอยู่ในตาคนเราได้ตลอดชีวิต โดยมีการทำปฏิกิริยากับร่างกายเราน้อยมาก ในการเลือกใช้เลนส์แก้วตาเทียม จักษุแพทย์จะเป็นผู้ทำการเลือกชนิดให้เหมาะสมกับผู้ป่วยต้อกระจก โดยชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมมีดังต่อไปนี้

  1. 1. เลนส์แก้วตาเทียมชนิด มองชัดระยะเดียว (Monofocal Intraocular Lens)

  2. 2. เลนส์แก้วตาเทียมชนิด มองชัดระยะเดียว พร้อมแก้ไขสายตาเอียง (Monofocal Toric Intraocular Lens)

  3. 3. เลนส์แก้วตาเทียมชนิด มองได้หลายระยะ (Multifocal Intraocular Lens) เช่น Bifocal, Trifocal และ Extended Depth of Focus (EDOF) Intraocular Lens

  4. 4. เลนส์แก้วตาเทียมชนิด มองได้หลายระยะ พร้อมแก้ไขสายตาเอียง (Multifocal Toric Intraocular Lens)

• ภาพการใส่เลนส์แก้วตาเทียม ชนิด Multifocal IOL ซึ่งทำให้สามารถมองได้หลายระยะ
แหล่งที่มาของภาพ : https://www.facebook.com/saraneyeclinic/

ป้องกันการเกิดต้อกระจก

  1. 1. สวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต และแนะนำให้พักสายตาเป็นระยะๆ หากต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน

  2. 2. ระวังอย่าให้ดวงตาถูกกระทบกระเทือน โดยผู้ที่ทำงานหรือเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยง ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายต่อดวงตา

  3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางกลุ่มโดยไม่จำเป็น เช่นยากลุ่มสเตียรอยด์

  4. 3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินเอ อี และซี ช่วยบำรุงสายตา แต่อย่างไรก็ตามการรับประทานวิตามินเสริมยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าลดความเสี่ยงการเกิดต้อกระจกได้

  5. 4. ควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำกับจักษุแพทย์ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเป็นประจำทุกปี หรือเมื่อสังเกตว่ามีอาการผิดปกติของตาและการมองเห็น

ข้อมูลติดต่อ

โทร. 044-015-999 หรือ โทร. 1719

วันและเวลาทำการ วันจันทร์วันอาทิตย์ เวลา 07.00-17.00 .
สถานที่ตั้ง แผนก ตา หู คอ จมูก ชั้น 4 โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา