Bangkok Hospital Ratchasima

เลือดออกในสมอง,ผ่าตัดสมอง,หลอดเลือดสมอง
 
       เป็นภาวะที่หลอดเลือดในสมองหรือหลอดเลือดระหว่างกระดูกและสมองแตกออก ทำให้เลือดไปสะสมและกดอัดเนื้อเยื่อสมอง ถือเป็นภาวะที่อันตรายและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการโรคเลือดออกในสมอง

ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีเลือดออก ความรุนแรงและจำนวนเนื้อเยื่อที่ได้รับผลกระทบ อาการบ่งบอกมีดังนี้
  1. ปวดหัวรุนแรงขึ้นมาเฉียบพลัน
  2. มีอาการชัก โดยไม่เคยมีประวัติโรคลมชักมาก่อน
  3. คลื่นไส้หรืออาเจียนอย่างรุนแรง
  4. แขนหรือขาอ่อนแรงเฉียบพลัน
  5. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว สับสน เพ้อ ไม่ตอบสนอง มีการตื่นตัวน้อยลง เซื่องซึม
  6. สูญเสียการทรงตัวและการประสานงานกันของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
  7. ตาพร่ามัว การตอบสนองของรูม่านตาไม่เท่ากัน
  8. พูดสื่อสารไม่รู้เรื่องหรือไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูด มีปัญหาในการเขียนหรืออ่านหนังสือ
  9. กลืนลำบาก ลิ้นรับรสชาติผิดแปลกไปจากปกติ
  10. เวียนศีรษะ
  11. ความดันโลหิตสูงขึ้น
  12. อาการปวดคล้ายเข็มทิ่มหรือชา
  13. การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดเล็กมีปัญหา เช่น มีอาการมือสั่น

สาเหตุของโรคเลือดออกในสมอง

ภาวะเลือดออกในสมองมีสาเหตุและปัจจัยการเกิดที่หลากหลาย สาเหตุหลักที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  1. ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปีลงไป ทั้งนี้อาจเป็นผลจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จักรยาน การพลัดตก อุบัติเหตุทางกีฬา และการถูกทำร้าย เป็นต้น
  2. ความดันโลหิตสูง ถือเป็นภาวะเรื้อรังที่ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอลงเรื่อย ๆ หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองตามมา
  3. หลอดเลือดโป่งพอง ผนังหลอดเลือดที่บวมและอ่อนแอลงจากภาวะนี้ สามารถแตกออกจนเกิดเลือดสะสมในสมอง และยังนำไปสู่โรคหลอดเลือดในสมองได้ด้วย
  4. มีหลอดเลือดสมองผิดปกติหรือโรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม (Arteriovenous Malformation) ซึ่งเป็นความผิดปกติของกลุ่มหลอดเลือดในสมอง โดยเกิดความผิดปกติของรอยต่อระหว่างหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ และทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้ง่าย มักมีตั้งแต่กำเนิดแต่อาจมาวินิจฉัยหรือพบในภายหลังเมื่อมีอาการผิดปกติ
  5. เส้นเลือดในสมองมีสารอะไมลอยด์สะสม เป็นความผิดปกติชนิดหนึ่งของผนังหลอดเลือด มีปัจจัยมาจากอายุที่เพิ่มขึ้นและความดันโลหิตสูง อาจเริ่มจากการมีเลือดออกเป็นจุดเล็ก ๆ หลายจุด ก่อนจะกลายเป็นบริเวณที่มีเลือดออกขนาดใหญ่
  6. ภาวะเลือดออกผิดปกติ ได้แก่ โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) และภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่จะส่งผลให้เลือดออกง่าย จนเกิดภาวะเลือดออกในสมองได้
  7. โรคตับ ซึ่งเป็นโรคที่จะส่งผลให้เลือดออกมากขึ้น จึงเสี่ยงต่อภาวะนี้ยิ่งขึ้น
  8. ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด การมีเนื้องอกที่มีเลือดออกในสมอง การใช้สารเสพติดอย่างโคเคนที่สามารถทำให้ความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง

การวินิจฉัยโรคเลือดออกในสมอง

1. วิธีที่ใช้วินิจฉัยภาวะเพื่อระบุตำแหน่งและขนาดของบริเวณที่มีเลือดออก ได้แก่

1.1 การทำ CT Scan เป็นวิธีที่นิยมใช้วินิจฉัยภาวะเลือดออกในสมองมากที่สุด ด้วยการใช้รังสีเอกซเรย์เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อถ่ายภาพโครงสร้างต่าง ๆ ในสมอง

1.2 การทำ MRI Scan การถ่ายภาพทางคอมพิวเตอร์โดยใช้คลื่นวิทยุและแม่เหล็กขนาดใหญ่แต่การทำ MRI Scan นำมาใช้ไม่บ่อยเท่า CT Scan เนื่องจากต้องใช้เวลานานกว่า

2. การวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อระบุสาเหตุของภาวะเลือดออกในสมอง

2.1 การเอกซเรย์หลอดเลือดด้วยการฉีดสีเข้าไปให้สามารถมองเห็นการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

2.2 การตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของเกล็ดเลือด การแข็งตัวของเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน การอักเสบ และการเกิดลิ่มเลือดที่อาจเป็นปัจจัยของภาวะดังกล่าว

2.3 บางกรณีที่อาจมีการเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อยืนยันว่ามีเลือดออกจริง ๆ ไม่ใช่โรคทางสมองชนิดอื่น

การรักษาโรคเลือดออกในสมอง

        ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีเลือดออก สาเหตุ และปริมาณของเลือดที่ออกมา ผู้ป่วยที่มีเลือดออกจุดเล็ก ๆ และไม่มีอาการใด ๆ อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ที่อาการของผู้ป่วยจะแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป แพทย์อาจให้ยาลดอาการสมองบวม เพื่อช่วยลดความเสียหายของสมองจากภาวะเลือดออก และคอยเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น คอยตรวจความดันในกะโหลกศีรษะ รวมทั้งทำ CT Scan สมองซ้ำ ส่วนผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมองเนื่องจากรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน อาจต้องรับการรักษาเพื่อทำให้ผลจากยาหายไป ไม่ให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกมากขึ้น ด้วยการใช้วิตามินเค หรือให้พลาสมาสดแช่แข็ง เป็นต้น

การผ่าตัด ขึ้นอยู่กับภาวะเลือดออกในสมองนั้น ๆ

1.1 การผ่าตัดระบายของเหลวในกรณีที่มีเลือดออกเฉพาะแห่งและมีลิ่มเลือดไม่มากเกินไปอาจใช้การเจาะรูผ่านกะโหลกศีรษะและใช้ท่อดูดระบายเลือดออกมา

1.2 การเปิดกะโหลกศีรษะ การผ่าตัดชนิดนี้มักใช้รักษาผู้ป่วยที่มีก้อนเลือดขนาดใหญ่ และมีอาการรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องนำก้อนเลือดขนาดใหญ่นี้ออกมาด้วยการเปิดกะโหลกศีรษะของผู้ป่วย

        ทั้งนี้ ในระหว่างการผ่าตัด แพทย์อาจให้ยารักษาควบคู่ไปด้วย เช่น ยาขับปัสสาวะช่วยลดอาการบวมรอบ ๆ บริเวณที่มีเลือดออก ยาลดความดันโลหิต ยารักษาอาการวิตกกังวลเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ ยากันชัก รวมถึงยาบรรเทาอาการปวดด้วย

        หลังจากการผ่าตัดเรียบร้อย ผู้ป่วยอาจต้องได้รับยาต้านชักไปจนถึง ปี เพื่อป้องกันอาการชักที่อาจเกิดขึ้นหลังเนื้อเยื่อสมองได้รับบาดเจ็บ หรืออาจจำเป็นต้องรักษาด้วยยาชนิดนี้ในระยะยาว นอกจากอาการชักก็ยังมีภาวะอื่นที่สามารถเกิดขึ้นในช่วงระยะหนึ่งภายหลังจากการผ่าตัด ได้แก่ การสูญเสียความทรงจำ วิตกกังวล สมาธิสั้น ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง ปวดศีรษะ ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ปัญหาการทรงตัว และอัมพาต

        อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดมีความเป็นไปได้ที่จะใช้เวลานานหรือฟื้นตัวได้ไม่สมบูรณ์ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีเลือดออก ความเสียหายที่เกิดขึ้น อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยอาจใช้เวลาพักฟื้นหลายเดือนถึงหลายปี ยังมีผู้ป่วยบางรายที่ผ่าตัดแล้วมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทซึ่งอาจจำเป็นต้องมีพยาบาลดูแลที่บ้านและทำกายภาพบำบัด

        ภาวะแทรกซ้อนของเลือดออกในสมอง ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในสมองและได้รับการรักษาบางรายสามารถฟื้นตัวและหายดีได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็มีรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น อัมพาต ไม่สามารถหายใจได้เอง สูญเสียการทำงานของสมอง เกิดโรคหลอดเลือดในสมอง หรือได้รับผลข้างเคียงจากยาหรือกระบวนการรักษา และในกรณีที่มีเลือดออกในสมองมากยังมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็วแม้จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็ตาม

การป้องกันโรคเลือดออกในสมอง

ภาวะเลือดออกในสมองส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากปัจจัยที่แต่ละคนสามารถป้องกันได้ เพียงลดพฤติกรรมเสี่ยงในข้อต่าง ๆ ต่อไปนี้

  1.       ป้องกันอันตรายจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะด้วยขับขี่ยานพาหนะอย่างระมัดระวัง คาดเข็มขัดนิรภัย ใส่หมวกกันน็อคทุกครั้ง และควรสวมใส่หมวกนิรภัยขณะเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการกระแทกของศีรษะ ส่วนบ้านที่มีเด็กควรจัดระเบียบสิ่งของและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในลักษณะที่ปลอดภัยต่อเด็ก
  2.       รักษาภาวะความดันโลหิตสูง วิธีควบคุมความดันโลหิตที่ทำได้ด้วยตนเองก็คือการควบคุมพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่ การรับประทานอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกาย และใช้ยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง
  3. หากป่วยเป็นโรคหัวใจ ควรรับการรักษา ส่วนผู้ป่วยเบาหวานก็ควรควบคุมโรคอย่างสม่ำเสมอ
  4. ไม่ใช้ยาเสพติด ยาเสพติดเป็นอีกปัจจัยที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในสมองได้
  5. ไม่สูบบุหรี่
  6.       รับการรักษาภาวะผิดปกติที่อาจนำไปสู่ภาวะเลือดออกในสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
  7. ระมัดระวังในการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างคูมาดิน (Coumadin) หรือเรียกอีกชื่อว่าวาร์ฟาริน (Warfarin) โดยผู้ใช้ยาควรตรวจระดับเลือดเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่ายังอยู่ในขั้นปลอดภัย และหากมีการใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอ

" โรคเลือดออกในสมอง ถือเป็นภาวะที่อันตรายและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ "

ข้อมูลติดต่อ

โทร. 044-015-999 หรือ โทร. 1719

ศูนย์สมองและระบบประสาท เปิดให้บริการ
  • วันจันทร์วันศุกร์       เวลา 08.00-19.00 .
  • วันเสาร์วันอาทิตย์   เวลา 08.00-17.00 .
สถานที่ตั้ง ศูนย์สมองและระบบประสาท ชั้น โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา