Bangkok Hospital Ratchasima

คลินิกสุขภาพจิต

สุขภาพดี เริ่มต้นที่สุขภาพใจ คลินิกสุขภาพจิตโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา มุ่งเน้นบริการ วินิจฉัย รักษา และบำบัดฟื้นฟูสุขภาพใจ ตามหลัก Recovery Oriented Services (ROS) ด้วยกระบวนการการรักษาและกิจกรรมหลากหลายที่สนับสนุนให้ผู้ป่วยตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง และมีส่วนร่วมในกระบวนการบำบัดที่ออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการ และศักยภาพของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้การดูแลสุขภาพกายและจิตใจควบคู่กันอย่างสมดุล

ทุกวันนี้ คนไทย 1 ใน 5 มีทุกข์ทางใจและไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร คุณรู้จักคนเหล่านี้หรือไม่?

  • คนที่กำลังทุกข์ทรมานด้วยโรคซึมเศร้าโรควิตกกังวล โรคไบโพลาร์ (อารมณ์สองขั้ว)
  • คนที่แก้ปัญหาชีวิตด้วยสุราหรือสารเสพติด
  • คนที่กำลังต้องการกำลังใจเพื่อต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บทางกาย
  • คนที่เริ่มสงสัยในคุณค่าของตัวเองและกำลังค้นหาว่าความสุขความสำเร็จในชีวิตอยู่ที่ไหน
  • คนที่กำลังเผชิญกับความผิดหวังในชีวิตตกอยู่ในภาวะเครียด หรือความสัมพันธ์ที่ใกล้จบลง

   คลินิกจิตเวชมุ่งให้การดูแลสุขภาพกายและจิตใจควบคู่กันอย่างสมดุล ทั้งผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการของโรคซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์สองขั้ว (ไบโพลาร์) ผู้ป่วยที่คิดฆ่าตัวตาย ผู้ที่ต้องการเลิกสุราหรือสารเสพติด ให้การดูแลครอบคลุมผู้ที่มีปัญหาสุขภาพกาย เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า หรือมีพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาโรคทางกาย เช่น การดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่ ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพใจควบคู่กัน

โรคซึมเศร้า เป็นอาการผิดปกติของอารมณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม โรคซึมเศร้าเป็นภาวะอารมณ์เศร้าหมองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกเฉยชา ไม่สนใจสิ่งต่าง ๆ ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานในแต่ละวัน ซึ่งก่อให้เกิดอาการทางจิตได้มากมาย การดำเนินชีวิตตามปกติอาจทำได้อย่างยากลำบากหรือรู้สึกว่าชีวิตไม่มีค่า ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่ความรู้สึกไม่สบายกายหรือไม่สบายใจที่สามารถสลัดออกไปได้ง่าย ๆ ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและยาวนานซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยถอดใจ การรักษา เช่น การทานยาหรือจิตบำบัด หรือทั้งสองอย่าง สามารถช่วยผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้กลับมามีอาการที่ดีขึ้น

อาการของโรคซึมเศร้า

  1. มีอาการรู้สึกเศร้าใจ หม่นหมอง หงุดหงิด หรือรู้สึกกังวลใจ ไม่สบายใจ (บางคนอาจจะมีอาการหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย)
  2. ขาดความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หรือสิ่งที่เคยให้ความสนุกสนานในอดีต หรือ ไม่มีความสุขกับการทำกิจกรรมต่างๆ
  3. น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป
  4. นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินกว่าปกติ
  5. คนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะรู้สึกผิด สิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
  6. ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ความจำแย่ลง
  7. อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง
  8. กระวนกระวาย ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ
  9. มีความคิดความตาย และอยากที่จะฆ่าตัวตาย คิดทำร้ายตัวเอง

หากสงสัย ว่าตัวเอง หรือ คนรอบข้างว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้น ให้สังเกตุตัวเอง หรือคนรอบข้าง หากมีอาการเหล่านี้อย่างน้อย 5 ข้อ ติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ คุณอาจจะกำลังเป็น “โรคซึมเศร้า”

การรักษาโรคซึมเศร้า

  1. การรักษาทางจิตใจของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า  มีวิธีรักษาทางจิตใจอยู่หลายรูปแบบ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจเป็นการ ”พูดคุย” กับจิตแพทย์ 10 ถึง 20 ครั้ง อันจะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจกับสาเหตุของปัญหา และนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยการเปลี่ยนมุมมองกับแพทย์ การรักษาทางพฤติกรรมจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีที่จะได้รับความพอใจ หรือความสุขจากการกระทำของเขา และพบวิธีที่จะหยุดพฤติกรรมที่ อาจนำไปสู่ความซึมเศร้าด้วย
  2. รักษาโรคซึมเศร้าด้วยการใช้ยา ยารักษาโรคซึมเศร้าออกฤทธิ์โดยปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล เป็นการรักษาโรคโดยตรง มิใช่เป็นเพียงยาที่ทำให้ง่วงหลับ จะได้ไม่ต้องคิดมากเช่นที่คนมักเข้าใจผิดกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักต้องการหยุดกินยาเร็วกว่าที่ควรเป็น ข้อสำคัญและพึงปฏิบัติที่สุดก็คือ การกินยาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าแพทย์จะบอกให้ท่านหยุด ถึงแม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม ยาบางตัวต้องค่อยๆลดขนาดลง เพื่อให้โอกาสร่างกายปรับตัว ไม่ต้องกังวลว่า ยารักษาโรคซึมเศร้าเป็นยาที่กินแล้วติด หยุดยาไม่ได้  อย่างไรก็ตามก็เช่นเดียวกับการรักษาโรคอื่นๆ แพทย์อาจให้ตรวจวัดระดับยาให้ถูกต้องกับอาการเป็นระยะๆ

โรควิตกกังวล

โรคที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในหลาย ๆ ด้านทั้งด้านการทำงาน การเรียน และการเข้าสังคม เช่น โรคกลัวการเข้าสังคม โรคแพนิค และโรคย้ำคิดย้ำทำ ก็นับเป็นโรควิตกกังวลด้วยเช่นกัน และด้วยโรคนี้เป็นโรคจากสภาพจิตใจจึงเป็นอันตรายอย่างมากหากปล่อยทิ้งไว้ ดังนั้นการรักษาโรคนี้ด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติอีกครั้ง

อาการ

โรควิตกกังวลทั่วไป  เป็นรูปแบบทั่วไปของการวิตกกังวลโดยเรื่องที่ทำให้กังวลจะเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไป ถึงแม้จะไม่อันตรายมากแต่หากปล่อยไว้นาน อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เนื่องจากความกังวลจะส่งผลให้ร่างกายได้พักผ่อนน้อย และเกิดอาการอ่อนเพลีย

โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นรูปแบบที่ไม่ค่อยมีผลเสียมากเท่าไหร่นัก โดยผู้ป่วยจะมีอาการย้ำคิด และทำในเรื่องที่ทำไปแล้วด้วยความกังวล ส่งผลให้ทำเรื่องเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าจะเกิดความมั่นใจ

โรคแพนิค อาการประเภทนี้จะส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ป่วยค่อนข้างมากเนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดความกังวล และความไม่สบายใจต่อสิ่งรอบตัวจนถึงที่สุดโดยไม่มีสาเหตุ ผู้ป่วยจะมีอาการหลายแบบ เช่น เวียนหัว เหงื่อออก ใจสั่น เป็นต้น

โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ โรคนี้เป็นผลมาจากการที่ผู้ป่วยได้ผ่านเหตุการณ์รุนแรง หรือเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก ทำให้เกิดความกลัวภายในจิตใจราวกับว่าเหตุการณ์นั้น ๆ จะเกิดขึ้นอีกครั้ง ผู้ป่วยจะมีอาการหวาดกลัว ระแวง และตกใจง่าย เป็นต้น

โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง คือการกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก ๆ อย่างชัดเจน เช่น กลัวเลือด กลัวสัตว์บางชนิด เป็นต้น ซึ่งอาการที่แสดงออกมาจะเป็นไปในทางหลีกเลี่ยง และหนีการพบเจอสิ่งนั้น ๆ อย่างทันทีทันใด

การรักษาโรควิตกกังวล

  • การรักษาด้วยยา โดยตัวยาจะสามารถช่วยควบคุม และบรรเทาอาการลงได้
  • การทำจิตบำบัด คือการเข้ารับคำแนะนำ และคอยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เพื่อเรียนรู้การแก้ปัญหาเมื่อเกิดความวิตกกังวลเพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ในที่สุด
  • จัดการและปรับเปลี่ยนความคิด เช่น เมื่อมีความกังวลให้หากิจกรรมอื่นทำเพื่อเกิดความสบายใจ หรือทำการนั่งสมาธิเพื่อผ่อนคลายจิตใจ นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนรูปแบบความคิดต่อเรื่องที่กังวลว่ามันไม่ได้เลวร้าย และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาก็เป็นทางออกที่ดีเช่นกัน

โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)

     โรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ระหว่างช่วงอารมณ์ซึมเศร้า (Depression) สลับกับช่วงที่อารมณ์ดีหรือหงุดหงิดมากกว่าปกติ (Mania) ระยะเวลาในแต่ละช่วงอาจอยู่เป็นสัปดาห์หรือเดือน โดยมีช่วงอารมณ์ปกติคั่นกลางได้ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการซึมเศร้าและคิดว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตามแพทย์จะซักประวัติและติดตามลักษณะอาการขณะรักษาเพื่อใช้วินิจฉัยในการแยกโรค

อาการอารมณ์สองขั้ว

ช่วงอารมณ์ดีหรือหงุดหงิดมากกว่าปกติ

    • มั่นใจในตัวเองเพิ่มมากขึ้นหรือคิดว่าตนเองยิ่งใหญ่
    • นอนน้อย
    • พูดมากกว่าปกติหรือพูดอย่างไม่หยุด
    • ความคิดแล่นเร็ว
    • วอกแวกง่าย
    • อยากทำอะไรหลาย ๆ อย่างในช่วงเวลานั้น
    • หมกมุ่นอย่างมากกับกิจกรรมที่ทำให้เกิดปัญหา เช่น ใช้จ่ายหรือลงทุนเยอะ ไม่ยับยั้งใจเรื่องเพศ ฯลฯ

ช่วงอารมณ์ซึมเศร้า

    • ซึมเศร้าเป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน
    • ความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง
    • เบื่ออาหารหรือรับประทานอาหารมากเกิน
    • นอนไม่หลับหรือหลับมากไป
    • กระสับกระส่ายหรือเชื่องช้ามากขึ้น
    • อ่อนเพลีย
    • รู้สึกตนเองไร้ค่า
    • สมาธิลดลง
    • คิดถึงเรื่องการตายอยู่เรื่อย ๆ

การรักษาโรคอารมณ์สองขั้ว

    • การรักษาด้วยยา
    • การรักษาด้วยจิตบำบัด
    • การรักษาด้วยไฟฟ้า

โรคนอนไม่หลับ

     เป็นปัญหาที่พบได้ทุกวัย ทุกอายุ เกิดขึ้นได้บ่อยตามข้อมูลการศึกษาพบได้ถึง ร้อยละ 30-35 ของผู้ใหญ่ พบภาวะดังกล่าวได้บ่อยในวัยผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยที่มีปัญหาเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ  ผู้ป่วยจะมีปัญหานอนไม่หลับทั้งๆที่มีโอกาสเพียงพอสำหรับการนอน  ผลของการนอนไม่หลับทำให้ร่างกายเกิดความอ่อนเพลีย, ปวดศีรษะ, จิตใจเกิดความกังวลหรือมีผลต่อการคิดการตัดสินใจและการทำงานในช่วงกลางวัน

อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะนอนไม่หลับ

    • อ่อนเพลีย
    • ไม่สามารถมีสมาธิกับการทำงาน, ความจำเปลี่ยนแปลง
    • ความสามารถในการทำงานลดลง
    • อารมณ์หงุดหงิดกระสับกระส่าย
    • ง่วงนอนเวลากลางวัน
    • ขาดพลังในการใช้ชีวิตอ่อนเพลีย
    • การเกิดอุบัติเหตุ
    • กังวลเกี่ยวกับปัญหาการนอนที่เกิดขึ้น

ปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะนอนไม่หลับ

    • ปัญหาความเครียด
    • ภาวะความผิดปกติของการหลับเช่น ภาวะขาอยู่ไม่สุข ( Restless legs syndrome)
    • ภาวะเจ็บป่วยทางกาย เช่นภาวะปวด,เหนื่อย, กรดไหล่ย้อน, การที่ร่างกายไม่สามารถเคลื่นไหวได้ปกติ สาเหตุข้อนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ นอกจากนี้แล้วภาวการตั้งครรภ์, หมดประจำเดือน ยังมีผลต่อการนอนไม่หลับ
    • ภาวะทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า, ภาวะวิตกกังวล
    • ภาวะกังวลว่าจะนอนไม่หลับ (psychophysiological insomnia) ผู้ป่วยจะกังวลกับปัญหาการนอนไม่หลับที่เกิดขึ้นซึ่งความวิตกนี้เองทำให้เกิดการตื่นตัวของร่างกายและจิตใจผลจึงทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับ
    • การใช้ยาหรือสารบางอย่าง เช่นยาแก้หวัด, ยากลุ่ม psudoepheridrine,ยาลดน้ำหนัก,ยาแก้หอบหืด, ยาต้านซึมเศร้า, ยากลุ่ม methylphenidate นอกจากนี้เครื่องดึมที่มีคาเฟอีน,นิโคตินและแอลกอออล์ก็มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับ
    • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่นเสียงหรือแสงที่มารบกวน, อุณหภูมิห้องที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
    • ปัญหาการทำงานเป็นกะ (shift work)

การรักษา

    • การรักษาโดยไม่ใช้ยา : การสร้างสุขอนามัยที่ดีของการนอน (sleep hygiene)
    • การรักษาภาวะนอนไม่หลับโดยใช้ยา
ข้อมูลติดต่อ

โทร. 044-015-999 หรือ โทร. 1719

ศูนย์สมองและระบบประสาท เปิดให้บริการ
  • วันจันทร์วันศุกร์       เวลา 08.00-19.00 .
  • วันเสาร์วันอาทิตย์   เวลา 08.00-17.00 .
สถานที่ตั้ง ศูนย์สมองและระบบประสาท ชั้น โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม