
“ไขมันพอกตับ” โรคฮิตของคนยุคใหม่ที่ใครๆก็เป็นได้ (ภัยเงียบที่นำไปสู่มะเร็งตับ)
โรคไขมันพอกตับ (Fatty liver disease) หรือไขมันเกาะตับ เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากการสะสมไขมันในตับมากเกินปกติ โดยไขมันที่เข้าไปแทรกในตับนั้นมักเป็นชนิดไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงภาวะไขมันสะสมอยู่ในเซลล์ตับหรือมีอาการอักเสบของตับร่วมด้วย ในปัจจุบันพบว่าโรคไขมันพอกตับนี้เป็นโรคตับที่พบบ่อยที่สุดถึงราวหนึ่งในสี่ของประเทศและเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้ผลการตรวจการทำงานของตับผิดปกติ

แหล่งที่มาของภาพ : http://www.ccc.chula.ac.th/editorial/182/
สาเหตุของโรคไขมันพอกตับ
1. จากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (Alcoholic fatty liver disease) ความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับเพศ ประเภท ปริมาณ และระยะเวลาที่ดื่มแอลกอฮอล์
2. ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ ( Non-alcoholic fatty liver disease) โดยเกิดจากปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น ภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง ไวรัสตับอักเสบบี/ซี ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด ยาต้านไวรัสบางขนิด ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากลุ่มฮอร์โมน เป็นต้น

• ปัจจัยเสี่ยงภาวะไขมันพอกตับ
ปัจจัยเสี่ยงหรือกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีภาวะไขมันพอกตับ
- โรคอ้วน ผู้ชายที่รอบเอวเกิน 40 นิ้ว ผู้หญิงที่รอบเอวเกิน 35 นิ้ว น้ำหนักตัวมากเกิน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 25-30)
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน /โรคไขมันในเลือดสูง / โรคความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก
- ผู้ที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เครื่องดื่มหรือขนมที่มีรสหวาน
- ผู้ที่มีเอนไซม์ตับ (AST,ALT) สูงอย่างต่อเนื่องโดยไม่ทราบสาเหตุ

อาการและอาการแสดง
โดยทั่วไปโรคไขมันพอกตับไม่ทำให้เกิดอาการทางร่างกาย หรือหากมีอาการก็อาจเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงมากพอที่จะบ่งบอกโรคได้ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้เล็กน้อย รู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวา ส่วนใหญ่การตรวจพบโรคไขมันพอกตับจึงมักพบเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการเจาะเลือดตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจทางการแพทย์ด้วยเหตุผลอื่นๆ แต่ถ้ากรณีผู้ป่วยที่มีตับแข็งแล้ว อาจตรวจพบลักษณะของโรคตับเรื้อรังร่วมด้วย
การวินิจฉัยและติดตามโรคไขมันพอกตับ
1.การตรวจเลือด
• ดูการทำงานของตับว่ามีการอักเสบ (ค่า AST,ALT สูงกว่าปกติ)
• เพื่อดูระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด และแยกโรคเพื่อหาสาเหตุอื่นของไขมันพอกตับ
• ติดตามและประเมินความรุนแรงของโรคไขมันพอกตับผ่านการตรวจวิเคาระห์ Steato Test ซึ่งเป็นการตรวจวิเคราะห์สารชีวเคมีจากเลือดและประเมินร่วมกับอายุและเพศรวมทั้งส่วนสูงและน้ำหนักของผู้ป่วย โดยใช้ security algorithms ซึ่งมีความแม่นยำสูง รายงานผลเป็น Steato Test Score เพื่อประเมินภาวะไขมันพอกตับ ทำให้เห็นความแตกต่างในการตรวจติดตามเป็นตัวเลขทำให้เห็นความชัดเจนมากขึ้น
2.การตรวจภาพรังสีวินิจฉัย เช่น ตรวจอัลตร้าซาวนด์ ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
3.การเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจ เพื่อดูปริมาณไขมันและการอักเสบรวมถึงระดับพังผืดในตับ
4.การตรวจ Fibro scan เพื่อตรวจระดับความแข็งของตับและวัดปริมาณไขมันในตับด้วยเครื่อง โดยที่ผู้ป่วยไม่เจ็บตัว (อ่านเพิ่มเติมการตรวจ Fibro scan)
เมื่อเป็นโรคไขมันพอกตับ จะเกิดผลเสียอย่างไร
ถ้ามีภาวะไขมันพอกตับเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการตายของเซลล์ตับ เมื่อการตายนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ เนื้อตับจะถูกแทนที่ด้วยพังผืดหรือแผลเป็น จนอาจเกิดตับแข็งในที่สุด หากโรคยังดำเนินต่อไปอาจเกิดภาวะตับวายหรือมะเร็งตับได้
แนวทางการรักษาและป้องกันภาวะไขมันพอกตับ
- ควบคุมน้ำหนักโดยให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และไม่ควรลดน้ำหนักเร็วเกินไป โดยการลดน้ำหนักลงควรให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย เช่น 0.25-0.5 กิโลกรัม/สัปดาห์
- ออกกำล้งกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ครั้งละ 30 นาที หรือ 150-200 นาทีต่อสัปดาห์ หากเป็นไปได้ควรออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิกและแบบมีแรงต้าน เช่น เดินเร็วครึ่งชั่วโมงแล้วตามด้วยการยกน้ำหนักแบบแรงกระแทกต่ำ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่มีไขมันต่ำ กากใยสูง และให้พลังงานต่ำ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันหรือคาร์โบไฮเดรตจำนวนมาก
- ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือภาวะไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมโรคดังกล่าวอย่างเต็มที่
- หลีกเลี่ยงรับประทานยาหรืออาหารเสริมที่นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ