
กิจกรรมบำบัด กับพัฒนาการเด็ก
เด็กในแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการที่แตกต่างกันตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงเด็กวัยรุ่น เราจึงเห็นความสำคัญและควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆที่เด็กชอบและมีความสุขเมื่อได้เรียนหรือลงมือทำซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการแต่ละช่วงวัยมีศักยภาพและการใช้ชีวิต อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข
เมื่อเด็กคนคนหนึ่งไม่ได้เป็นไปตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัยหรือต้องการความดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษ อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครงสร้างหรือสารเคมีบางอย่างของสมองหรือมาจากพันธุกรรมหรือเกิดจากการเลี้ยงดูส่งผลให้เกิดความบกพร่องด้านการสื่อสารการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ร่วมกับมีพฤติกรรมและความสนใจที่ค่อนข้างจำกัด และเป็นแบบแผนซ้ำๆ โดยมีข้อสังเกตหรืออาการดังนี้
- อายุสองขวบแล้วแต่ยังไม่เริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมาย
- ไม่ทำตามคำสั่ง ไม่มองหน้าสบตา เรียกไม่หัน
- มีภาษาเฉพาะตัวหรือจะเรียกว่าภาษาต่างดาว
- สื่อสารโดยการดึงมือผู้ปกครองให้ทำในสิ่งที่ต้องการ
- เด็กบางคนอาจเคยพูดเป็นคำได้แล้วแต่พัฒนาการด้านการพูดมาหยุดชะงักหรือทดถอยในช่วงอายุหนึ่งปีครึ่งถึงสองปี
- มีสมาธิสั้น อยู่ไม่นิ่ง รอคอยไม่ได้
- เรียนไม่ทันเพื่อน เล่นกับเพื่อนไม่เป็น
- อารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว มีปัญหาพฤติกรรม
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว งุ่มง่าม โยกเยก ไม่ชอบปีนป่ายหรือกระโดด
- กลุ่มเด็กออทิสติก (Autistic)
- กลุ่มดาวน์ซินโรดม (Down Syndrome) กลุ่มที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ การอ่าน

นักกิจกรรมบำบัดจะมีขอบเขตในการทำงาน ต่อไปนี้
- ประเมินและส่งเสริมพัฒนาการรอบด้านของเด็กตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึงเด็กวัยรุ่นทั้งในเด็กปกติและเด็กพิเศษ
- ฝึกให้เด็กทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองด้านต่างๆ เช่น การใส่เสื้อผ้า การทานข้าว
- ส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่เช่น การชันคอ การคลาน การเดิน
- ส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การหยิบ จับ
- จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการควบคุมตนเอง การฝึกรอคอย การฝึกยับยั้งชั่งใจในเด็กที่มีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง ก้าวร้าว
- ส่งเสริมทางด้านภาษาในการสื่อสารและสังคมให้เหมาะสมกับวัย
- เตรียมความพร้อมทักษะต่างๆที่เป็นพื้นฐานทางการเรียน เช่น ทักษะการเขียน การรับรู้ทางสายตา ทักษะการอ่าน
- ส่งเสริมทักษะด้านการบูรณาการประสาทความรับความรู้สึก (Sensory Intergration : SI) เช่น ไม่ชอบสัมผัสพื้นผิวบางอย่าง เดินเขย่งปลายเท้า ไม่รับประทานอาหารบางชนิดชอบเล่นแรง หกล้มบ่อย
- ให้คำแนะนำกับผู้ปกครองหรือบุคคลทั่วไปในด้านพัฒนาการเด็กหรือกิจกรรมการเล่นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัย
โดยเป้าหมายของการฝึกเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันซึ่งนักกิจกรรมบำบัดและผู้ปกครองจะร่วมกันวางแผนและกำหนดเป้าหมายให้ไปในทิศทางเดียวกันรวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของปัญหาที่พบเจอในเด็กเพื่อส่งเสริมให้เด็กสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
ในกระบวนการของการบำบัดรักษาและการฝึกนั้นจำเป็นที่ต้องใช้ระยะเวลาความสม่ำเสมอในการฝึก อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ควบคู่กับการนำโปรแกรมไปฝึกที่บ้าน ผู้ปกครองสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างน้อยภายในระยะเวลา 1 เดือน สำคัญที่สุดนักกิจกรรมบำบัดผู้ปกครอง และคนรอบข้าง ควรเปิดโอกาสและสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้ และเล่นผ่านกิจกรรมที่เด็ก ชื่นชอบอย่างมีความสุข เพราะ “คุณคือคนพิเศษสำหรับเรา”

