การบาดเจ็บหมอนรองเข่าฉีกขาด
หมอนรองเข่า (meniscus) เป็นอวัยวะรูปร่างคล้ายตัวอักษร C ที่อยู่ภายในหัวเข่า วางอยู่บนกระดูกหน้าแข้ง (tibia) มี 2 ชิ้น วางอยู่บนเข่าฝั่งด้านนอก เรียกว่า lateral meniscus และอีกชิ้นวางอยู่บนเข่าฝั่งด้านใน เรียกว่า medial meniscus
สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดสาเหตุหนึ่งของอาการปวดเข่า คือการบาดเจ็บหมอนรองเข่าฉีกขาด ซึ่งในปัจจุบันการบาดเจ็บของหมอนรองเข่าพบได้บ่อยมากขึ้น จากกิจกรรมต่างๆ อาทิ การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา, อุบัติเหตุเข่าบิด หรือรวมไปถึงภาวะที่เกิดขึ้นตามหลังภาวะเข่าหลวม ซึ่งเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บของเส้นเอ็นในเข่า เป็นต้น
ในอดีตเคยมีความเชื่อว่าหมอนรองเข่าไม่ได้มีความสำคัญกับเข่ามากนัก แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบว่าหน้าที่ของหมอนรองเข่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการทำงานของเข่า การสูญเสียหมอนรองเข่าอาจจะนำไปสู่ภาวะเข่าเสื่อมอย่างรวดเร็ว โดยหน้าที่ที่สำคัญของหมอนรองเข่าประกอบด้วย
- ลดแรงกระแทกที่มีต่อเข่า โดยทำหน้าที่เหมือนเบาะรับแรงกระแทก
- เพิ่มความมั่นคงในข้อเข่า โดยทำหน้าที่คล้ายธรณีประตูป้องกันเข่าเลื่อนหลุด
- เติมเต็มช่องว่างและเพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัสในเข่า รวมถึงให้ความหล่อลื่นของเข่าในการเคลื่อนไหว
จะเห็นได้ว่าหมอนรองเข่ามีความสำคัญในการลดการสึกหรอของเข่า ซึ่งหากมีการบาดเจ็บของหมอนรองเข่าเกิดขึ้นจะนำไปสู่ภาวะอันตรายต่อเข่าในภายหลังได้ โดยในปัจจุบันพบว่า หากมีการฉีกขาดของหมอนรองเข่าขนาดใหญ่ และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะมีโอกาสเกิดภาวะเข่าเสื่อมในอนาคตได้สูงกว่าคนทั่วไปหลายเท่าตัว
การบาดเจ็บของหมอนรองเข่าโดยมาก เกิดจากอุบัติเหตุเข่าบิด ทำให้กระดูกเข่ากดทับไปยังตัวหมอนรองเข่าและมีการบิดหมุน ทำให้เนื้อหมอนรองเข่าเกิดการฉีกขาดออกจากกันได้ โดยผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บของหมอนรองเข่าจะมีอาการปวดข้างในเข่าลึกๆ ซึ่งอาจจะเจ็บฝั่งใดฝั่งหนึ่งของเข่า หรือทั้งสองฝั่งก็ได้
รูปภาพ : เข่าบิดจากการเล่นกีฬา
( แหล่งที่มาของภาพ : https://lannahospitalnews.blogspot.com/2019/05/AnteriorCruciateLigament.html )
ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการเข่าล็อกหรือมีความรู้สึก "คลิ๊ก” ภายในเข่า โดยอาจจะมีอาการเหยียดหรืองอเข่าได้ไม่สุดได้ รวมไปถึงอาการเข่าบวมน้ำ เป็นๆ หายๆ ก็เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้ในผู้ป่วยที่มีหมอนรองเข่าบาดเจ็บได้เช่นกัน ซึ่งการวินิจฉัยภาวะการบาดเจ็บของหมอนรองเข่านี้ แพทย์จะต้องทำการตรวจเข่าอย่างละเอียด และในบางกรณีแพทย์อาจจะทำการส่งตรวจเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ที่หัวเข่า ซึ่งจะสามารถช่วยให้แพทย์ทำการวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
การรักษาการบาดเจ็บหมอนรองเข่าฉีกขาดนั้น โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะพิจารณาหลายปัจจัย อาทิเช่น ระยะเวลาของการบาดเจ็บ ขนาดของการฉีกขาด ตำแหน่งของการบาดเจ็บ ลักษณะของการฉีกขาด รวมไปถึงอายุและกิจกรรมของผู้ป่วย และการบาดเจ็บอื่นๆที่อาจพบร่วมในเข่าด้วย
การรักษาจะแบ่งเป็น 2 วิธีหลักคือ การรักษาแบบอนุรักษ์ และการรักษาโดยการผ่าตัด
( แหล่งที่มาของภาพ : https://swaainternational.org/)
การรักษาด้วยวิธีอนุรักษ์ โดยปกติแล้ว รอยฉีดขาดของหมอนรองเข่าที่เกิดขึ้นมาไม่นานและมีขนาดเล็ก จะสามารถสมานได้เอง ในกรณีนี้ แพทย์อาจจะเลือกการรักษาโดยวิธีอนุรักษ์ ด้วยการให้ยาลดอาการปวด ให้งดกิจกรรมใช้เข่า และเมื่ออาการดีขึ้น ก็จะให้เริ่มกายภาพเพื่อเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อและการทรงตัวเพื่อลดการบาดเจ็บในอนาคตต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม หากรอยแผลฉีกขาดมีขนาดใหญ่หรือเกิดขึ้นมานาน การรักษาด้วยวิธีอนุรักษ์อาจจะให้ผลไม่ดีนัก
( แหล่งที่มาของภาพ : https://www.thaihealth.or.th/Content/41235-ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมไม่น่ากลัวอย่างที่คิด.html)
การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ในกรณีที่แผลฉีกขาดมีขนาดใหญ่ หรือรุนแรง การสมานของแผลอาจจะไม่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บเข่าเรื้อรัง และอาจจะนำไปสู่ภาวะเข่าเสื่อมต่อไปได้ การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดจึงมีความจำเป็น โดยการผ่าตัดรักษาอาจจะแบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ
- การผ่าตัดเย็บซ่อมหมอนรองเข่า ข้อดีของวิธีนี้คือ จะสามารถเก็บรักษาหมอนรองเข่าไว้ได้ซึ่งจะคงไว้ถึงการทำงานของเข่าให้ใกล้เคียงปกติได้ การเย็บซ่อมโดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะใช้เครื่องมือเย็บหมอนรองเข่า โดยทำผ่านการส่องกล้องในหัวเข่า แล้วทำการเย็บซ่อม ซึ่งแพทย์จะพิจารณารักษาเย็บซ่อมโดยจะพิจารณาจากลักษณะของรอยแผล, ขนาด, ตำแหน่งที่เกิดการบาดเจ็บ และ ระยะเวลาที่เกิดการบาดเจ็บ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการรักษา
- การตัดหมอนรองเข่าทิ้งออกบางส่วน ในบางกรณี หากแผลฉีกขาดรุนแรงมาก, เกิดขึ้นมานาน หรือการฉีกขาดเกิดขึ้นในที่ไม่สามารถเย็บซ่อมได้ การตัดหมอนรองเข่าออกบางส่วน อาจจะมีความจำเป็น และจะสามารถทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวดได้ดีเช่นกัน
รูปภาพ : ผู้ป่วยทำกายภาพหลังการผ่าตัดเข่า
การพักฟื้นหลังการผ่าตัด
โดยทั่วไป แพทย์จะให้เดินไม้เท้าหลังผ่าตัดประมาณ 4-6 สัปดาห์ และเริ่มออกกำลังกายเบาๆได้หลัง 3 เดือน
โดยสรุปแล้ว หมอนรองเข่า เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างมากในเข่า การบาดเจ็บของหมอนรองเข่าอาจจะเกิดขึ้นเดี่ยวๆ หรือเกิดพร้อมการบาดเจ็บอื่นๆในเข่าร่วมด้วยได้เช่น การบาดเจ็บเส้นเอ็นเข่า หรือการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนในเข่า ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี การบาดเจ็บของหมอนรองเข่าก็จะนำไปสู่ภาวะเข่าเสื่อมได้ในอนาคต